Mobile Health Check up

(ตรวจสุขภาพประจำปี)

Check up on site

  • Weight / Height Measurement
  • BP Monitoring
  • Laboratory
    • Immunology
    • Hematology
    • Chemistry
    • Microscopy
  • Toxicology
    • AAS-GF
    • GC-HS (FID)
    • HPLC
  • Physical Examination
  • Spirometry
  • OCC-Vision
  • Muscular Strength
  • ECG
  • Audiogram Screening
  • Imaging
    • X-ray
    • CT Scan
    • Bone density
    • Mammogram
    • Ultrasound

การตรวจสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญ

เพราะมีโรคหลายชนิดที่เกิดขึ้นที่ร่างกายไม่แสดงอาการ แต่แอบแฝงเป็นภัยเงียบคุกคามสุขภาพ การตรวจสุขภาพจึงมีเป้าหมายสำคัญ คือการค้นหาโรคที่ซ่อนอยู่โดยที่ร่างกาย ยังไม่แสดงอาการผิดปกติ และค้นหาพฤติกรรมเสี่ยง หรือปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ เพื่อหาแนวทางป้องกันและรับคำแนะนำในการปฏิบัติตัวอย่างถูกต้องจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

เตรียมพร้อมก่อนตรวจ
  • ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง หากพักผ่อนไม่เพียงพอจะทำให้ผลการตรวจคลาดเคลื่อนไปโดยเฉพาะความดันโลหิต การเต้นของหัวใจ และอุณหภูมิของร่างกาย
  • งดอาหาร และเครื่องดื่ม อย่างน้อย 8-10 ชั่วโมงก่อนตรวจ (สามารถจิบน้ำเปล่าได้เล็กน้อย)
  • งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อย่างน้อย 24 ชั่วโมง เนื่องจากยาและแอลกอฮอล์ อาจมีผลต่อการตรวจบางรายการ
  • หากมีโรคประจำตัว หรือประวัติสุขภาพด้านอื่น ๆ ควรแจ้งให้แพทย์ หรือพยาบาลทราบก่อนการตรวจ
  • ควรสวมเสื้อผ้าที่สะดวกต่อการเจาะเลือดที่ข้อพับ แขน
สำหรับสุภาพสตรี
  • งดใส่เครื่องประดับต่าง ๆ ที่เป็นโลหะ / สุภาพสตรีงดใส่ชุดชั้นในที่เป็นโครงเหล็ก
  • หากมีประจำเดือนแนะนำให้งดตรวจปัสสาวะ เพราะเลือดจะปนเปื้อนในปัสสาวะและมีผลกระทบต่อผลการตรวจ
  • หากตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม ด้วยการเอกซเรย์เต้านม (Mammogram) ควรหลีกเลี่ยงการตรวจในช่วงมีประจำเดือน เพราะเต้านมจะมีความคัดตึง ควรตรวจหลังมีประจำเดือน
  • ในกรณีสงสัยว่าตั้งครรภ์ โปรดแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบ เพื่องดการตรวจเอกซเรย์

ขั้นตอนการตรวจสุขภาพ

1. ลงทะเบียน เพื่อรับเอกสาร ยืนยันตัวตน
  • วิธีการตรวจ
    • เตรียมบัตรพนักงาน หรือ บัตรประชาชน เพื่อยืนยันตัวตน และ รับเอกสารสติกเกอร์บาร์โค้ด
2. ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง

เพื่อให้ทราบ ค่าน้ำหนักและส่วนสูง ที่ได้มาตรฐาน ไม่อ้วนเกินไปหรือผอมเกินไป

  • วิธีการตรวจ
    • ถอดรองเท้า หันหลังขึ้นเครื่องชั่ง ยืนนิ่ง ๆ
3. วัดความดัน และ ชีพจร

การวัดความดันโลหิต เป็นการตรวจร่างกายที่สามารถให้ข้อมูลอันเป็นประโยชน์เกี่ยวกับสุขภาพหัวใจและหลอดเลือดเบื้องต้น ซึ่งทำได้ภายในเวลารวดเร็วโดยไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดใด ๆ

  • ข้อควรปฏิบัติ
    • ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ 6-8 ชั่วโมงก่อนเข้ารับการตรวจ
  • วิธีการตรวจ
    • เจ้าหน้าที่จะพันปลอกแขนให้ผู้ที่เข้ารับการตรวจ ผู้เข้ารับการตรวจจะต้องวางแขน นิ่ง ๆ เพื่อป้องกันการคำนวนค่าที่ผิดพลาดจนกว่าเจ้าหน้าจะนำผ้าพันแขนออก
4. เจาะเลือด

เพื่อตรวจดูความบกพร่องของระบบต่าง ๆ ของร่างกาย ตับ ไต ไขมัน หาเชื้อ และ ภูมิคุ้มกันต่าง ๆ

  • ข้อควรปฏิบัติ
    • ผู้ที่รับประทานยาก่อนการเจาะเลือด หรือมียาประจำตัวควรแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบ
    • ควรงดเครื่องดื่มทุกชนิด (ยกเว้นน้ำเปล่า) งดอาหาร 8-12 ชั่วโมง ก่อนเข้ารับการเจาะเลือด
    • ควรใส่เสื้อพับแขนเพื่อให้สะดวกในการเจาะเลือด
    • หลังจากเจาะเลือดเสร็จแล้ว ควรพับงอแขนข้างที่เจาะเลือดประมาณ 5 นาที เพื่อให้เลือดหยุดไหล
    • ไม่นวดหรือคลึงบริเวณที่เจาะแขน เพราะจะทำให้เส้นเลือดที่ถูกเจาะแตก และเป็นรอยช้ำได้
    • ในกรณีที่ต้องอดอาหารก่อนมาเจาะเลือด ให้รีบทานอาหารหลังจากเจาะเลือด เพื่อป้องกันอาการขาดน้ำตาลในเลือด มีผลทำให้เกิดอาการวิงเวียนศรีษะ และเป็นลมได้
5. การเก็บปัสสาวะ

การตรวจปัสสาวะเป็นการตรวจพื้นฐานทางการแพทย์ที่ใช้ในหลายกรณี สามารถใช้วินิจฉัยโรคหรือการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะในเบื้องต้น เช่น อาการปวดท้อง ปวดหลัง ปวดเอว ปัสสาวะบ่อย อาการปวดแสบขณะปัสสาวะ หรือปัสสาวะมีเลือดปน เพื่อหาสาเหตุความผิดปกติที่เกิดขึ้น อีกทั้งยังช่วยตรวจคัดกรองโรคที่มีความเกี่ยวข้องกับอวัยวะหลายส่วน

  • ขั้นตอนการเก็บปัสสาวะ
    • ทำความสะอาดบริเวณภายนอกโดยรอบก่อน
    • ให้ทิ้งปัสสาวะในช่วงแรก และ ตอนก่อนถ่ายสุด โดยให้เก็บเฉพาะช่วงกลางระหว่างปัสสาวะ เก็บประมาณ 20-30 มล.หรือ 3/4 ของกระปุก
      และส่งให้เจ้าหน้าที่ภายใน 1 ชม (เพราะแบคทีเรียจะเติบโตอย่างรวดเร็วทำให้ PH ของปัสสาวะเป็นด่าง ถ้าส่งทันทีไม่ได้ควรเก็บในที่ควบคุมอุณหภูมิ 0-4 องศา
      (โดยไม่ควรเก็บเกิน 18 ชม)

ควรล้างมือให้สะอาดทั้งก่อนและหลังเก็บปัสสาวะ เนื่องจากอาจเป็นแหล่งแพร่กระจายของเชื้อโรคได้

6. การเก็บอุจจาระ
  • ตรวจสุขภาพของระบบทางเดินอาหาร เช่น กระเพาะอาหาร ลำไส้
  • ตรวจระบบการย่อยและดูดซึมอาหารของกระเพาะอาหารและลำไส้
  • ตรวจการมีแผลเรื้อรังในระบบทางเดินอาหาร เช่น แผลในกระเพาะอาหาร โรคแผลเพปติก (Peptic ulcer) หรือแผลจากโรคมะเร็งทางเดินอาหาร (เช่น โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่)
  • ตรวจหาไข่พยาธิ ตัวอ่อนพยาธิ ปล้องพยาธิ รวมทั้งหาโปรโตซัว
  • ตรวจเพาะเชื้อว่าโรคทางเดินอาหารนั้น ๆ เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส เชื้อรา หรือเชื้อปรสิต เช่น ในกรณีท้องเสียหรืออาหารเป็นพิษ
  • ขั้นตอนการเก็บอุจจาระ
    • ตรวจสอบความเรียบร้อยของภาชนะที่จัดเก็บ จะต้องแห้งสะอาดและมีฝาปิดมิดชิด
    • ในขั้นตอนการเก็บควรปัสสาวะทิ้งไปก่อนเพื่อป้องกันการปนเปื้อนที่อาจส่งผลต่อการตรวจได้
    • ถ่ายอุจจาระลงในถุงพลาสติกปากกว้างแห้งสะอาด หรืออาจใช้พลาสติกสำหรับหุ้มห่อวางพาดโถสุขภัณฑ์เพื่อไม่ให้ตัวอย่างตกลงน้ำ และใช้ที่ป้ายพลาสติก
      ที่อยู่ในกระปุกเก็บอุจจาระประมาณ 4-5 กรัมและให้ส่งตรวจทันทีไม่เกิน 1 ชม เนื่องจากระยะโทรโฟซอยต์ของโปรโตซัวอาจตาย

ควรล้างมือให้สะอาดทั้งก่อนและหลังเก็บอุจจาระ เนื่องจากอาจเป็นแหล่งแพร่กระจายของเชื้อโรคได้

7. การตรวจสมรรถภาพการทำงานของปอด

การตรวจสมรรถภาพทางปอด ⇔ เป็นการตรวจที่สำคัญและมีประโยชน์อย่างยิ่งในกระบวนการวินิจฉัย  ประเมิน และติดตามผลการรักษาโรคระบบการหายใจ  เช่น  โรคหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคปอดจากการทำงาน เป็นต้น นอกจากนี้การตรวจสมรรถภาพปอด ยังสามารถบ่งบอกถึงการเสื่อมของการทำงานของปอด ก่อนที่อาการแสดงจะเริ่มปรากฏ เนื่องจากอาการเหนื่อยจึงมักปรากฏหลังจากพยาธิสภาพ ในปอดเกิดขึ้นมากแล้ว การตรวจสมรรถภาพทางปอด  เป็นการทดสอบ การหายใจ โดยใช้เครื่่องมือที่เรียกว่า สไปโรมิเตอร์ (Spirometer) ซึ่งจะวัดปริมาตรอากาศเข้าและออกจากปอด สามารถบันทึกเป็นกราฟ (Spirogram) แสดงความสัมพันธ์ระหว่างปริมาตรและเวลา

  • ข้อห้ามในการทดสอบสมรรถภาพการทำงานของปอด
    • ไอเป็นเลือด
    • ภาวะลมรั่วในเยื่อหุ้มปอดที่ยังไม่ได้รับ การรักษา
    • ระบบหลอดเลือดหรือ หัวใจทำงานไม่คงที่ ได้แก่ ความดันโลหิตสูง ที่ยังไม่ได้รับการ รักษาหรือควบคุมได้ไม่ดี , ความดันโลหิตต่ำ
    • เส้นเลือดแดงโป่งในทรวงอก ท้อง หรือ สมอง
    • เพิ่งได้รับการผ่าตัดตา เช่น ผ่าตัดลอกต้อกระจก
    • เพิ่งได้รับการผ่าตัดช่องอก หรือ ช่องท้อง
    • ติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เช่น วัณโรคปอดระยะติดเชื้อ ไข้หวัด
    • สตรีมีครรภ์ (ยกเว้นในบางรายที่จำเป็น)
    • ผู้ที่อาการเจ็บป่วยที่อาจมีผลต่อการ ทดสอบสไปโรเมตรีย์ เช่น คลื่นไส้ หรือ อาเจียนมาก
8. การตรวจสายตาอาชีวอนามัย (OCC)

เป็นการตรวจคัดกรองสมรรถภาพการมองเห็น (Vision screening) ไม่ใช่การตรวจในระดับการวินิจฉัยยืนยัน (Diagnostic test) ซึ่งเป็นการตรวจสมรรถภาพการมองเห็นโดยละเอียด (Comprehensive eye examination) การตรวจในระดับการคัดกรองความผิดปกตินั้น จัดว่าเป็นการตรวจที่มีความปลอดภัยสูง จึงไม่มีข้อห้าม (Contraindication) ในการตรวจ และไม่ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อน (Complication) จากการตรวจ สามารถตรวจความผิดปกติของสายตาได้หลายอย่าง ได้แก่

  • การมองภาพระยะไกลผิดปกติ (Far vision)
  • การมองภาพระยะใกล้ผิดปกติ (Near vision)
  • การมองภาพ 3 มิติผิดปกติ (Stereopsis)
  • การมองภาพสีผิดปกติ (Color vision)
  • ความสมดุลกล้ามเนื้อตาผิดปกติ (Phoria)
  • ลานสายตาผิดปกติ (Visual field)
  • การเตรียมตัวเพื่อเข้ารับการตรวจสมรรถภาพการมองเห็น
    • พักจากแสงจ้า 8-12 ชั่วโมง
    • ต้องมีสมาธิ ตั้งใจฟังคำสั่งให้เข้าใจ
    • คนทํางานที่มีแว่นสายตา (Glasses) นําแว่นสายตาที่ใช้มาใส่ในการตรวจด้วย หากมีแว่นสายตาสองอัน (คืออันหนึ่งไว้สําหรับมองภาพระยะไกล อีกอันหนึ่งไว้สําหรับมองภาพระยะใกล้) ก็ให้นําแว่นสายตาที่มีทั้ง 2 อันนั้นมาใส่ในการตรวจ หากใส่คอนแทคเลนส์ (Contact lens) ในระหว่างการทํางาน ก็ให้ใส่คอนแทคเลนส์มาทําการตรวจเหมือนเวลาทํางานปกติ
9. การตรวจสมรรถภาพการได้ยิน

การตรวจสมรรถภาพการได้ยิน หรือ Audiography เป็นการตรวจการได้ยินเสียง ณ ความถี่ต่าง ๆ ตั้งแต่ระดับความถี่เสียงสนทนา จนถึง เสียงเครื่องจักร ซึ่งเป็นความถี่ที่ไม่ได้ยินกันในชีวิตประจำวัน หรือคนทั่วไปที่ไม่ได้มีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรงจะไม่ได้มีโอกาสสัมผัส โดยการตรวจจะนำ ข้อมูลไปสร้างเป็นกราฟ เรียกว่า ออดิโอแกรม (audiogram) ซึ่งการแปลผลว่ามีสมรรถภาพการได้ยินเป็นอย่างไรนั้นจะดูจากกราฟนี้การที่เราจะเข้าใจ ว่าการตรวจสมรรถภาพการได้ยินมีประโยชน์อย่างไรควรทราบถึงกลไกการได้ยินและอันตรายของเสียงดังก่อนดังนี้

  • การเตรียมตัวตรวจการได้ยิน
    • หลีกเลี่ยงการสัมผัสเสียงดังที่บ้าน หรือที่ทำงานก่อนเข้ารับการตรวจการได้ยิน 14-16 ชั่วโมง ทั้งนี้เพื่อป้องกันภาวะหูตึงชั่วคราวซึ่งอาจทำให้ผลการตรวจผิดพลาด
    • ออกจากที่มีเสียงดังก่อนถึงเวลาตรวจการได้ยินอย่างน้อย 15 นาที
10. การตรวจ X-ray ปอด
  • เป็นการตรวจเพื่อยืนยันความเป็นปกติของอวัยวะสำคัญภายในช่องอก ได้แก่ ปอด หัวใจ ช่องทางหายใจ กระดูกซี่โครง เส้นเลือดใหญ่ และอวัยวะอื่นในช่องอก หากสังเกตเห็นความผิดปกติของอวัยวะใดดังกล่าวก็ย่อมบ่งชี้ว่า กำลังอาจมีโรคที่อวัยวะนั้น ๆ
  • เป็นการตรวจที่ช่วยให้เห็นร่องรอยความผิดปกติ จากอาการป่วยและไม่สบายของผู้รับการตรวจที่เกิดอาการสำคัญเหล่านี้มาก่อน เช่น อาการไอเรื้อรัง ไอเป็นเลือด อาการหายใจลำบากหรือติดขัด อาการป่วยภายในช่องอก อาการเจ็บภายในช่องอก
  • เป็นการตรวจโรคสำคัญที่เกี่ยวกับปอด หัวใจ หรือกระดูก ซึ่งอาจช่วยให้ผู้ป่วยรู้ตัวและหาทางรักษาตั้งแต่แรกได้ จึงนับว่าเป็นการช่วยร่างกายให้ห่างไกลจากโรคสำคัญเหล่านี้ ได้แก่ โรคหรืออาการที่เกี่ยวกับปอด เช่น วัณโรคปอด (Tuberculosis), ถุงลมโป่งพอง, อาการน้ำท่วมปอด, อาการปอดบวม (Pneumonia), อาการปอดแฟบ (Collapsed lung), ภาวะปอดมีฝุ่นจับมาก (Pneumoconiosis), เนื้องอกในปอด, โรคมะเร็งปอดระยะเริ่มแรก, โรคมะเร็งที่ลุกลามจากอวัยวะอื่นมาที่ปอด, อาการผิดปกติของหลอดเลือด
  • คำแนะนำและข้อควรรู้ก่อนการเอกซเรย์ปอด
    • ผู้ป่วยที่มีอาการของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) อาจทำให้การกลั้นหายใจในขณะการฉายรังสีเอกซเรย์กระทำไม่ได้เหมือนคนปกติทั่วไป
      ผู้ที่มีร่างกายอ้วนกว่าปกติอาจจำเป็นต้องถูกฉายเอกซเรย์ซ้ำหลายครั้ง เพื่อให้แน่ใจว่าได้ฟิล์มเอกซเรย์ที่ให้ภาพเจาะลึกจนเห็นอวัยวะที่แพทย์ต้องการอย่างชัดเจน
      ผู้รับการตรวจเอกซเรย์ที่มีแผลเป็นที่ปอดจากการที่เคยได้รับการผ่าตัดปอดมาก่อน อาจทำให้การอ่านผลและแปลผลฟิล์มเอกซเรย์มีความผิดพลาดหรือคลาดเคลื่อนได้
      การถ่ายภาพเอกซเรย์อาจต้องทำหลายครั้งจนกว่าจะได้ภาพที่ดีที่สุด เพราะจะส่งผลดีต่อความแม่นยำในการวินิจฉัย
      หากเคยรับการผ่าตัดที่ต้องฝังอุปกรณ์หรือชิ้นส่วนโลหะไว้ในร่างกาย ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนล่วงหน้า
  • การเตรียมตัวก่อนการเอกซเรย์ปอด
    • ผู้รับการตรวจไม่ต้องเตรียมล่วงหน้าเป็นพิเศษ ไม่ต้องงดอาหาร งดการดื่มน้ำก่อนตรวจแต่อย่างใด และหากมีการรับประทานยาอยู่ก็สามารถรับประทานต่อเนื่องไปได้
11. การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG)

การตรวจจะทำให้แพทย์ทราบการทำงานของหัวใจว่าสม่ำเสมอหรือไม่ และสามารถตรวจหาความเสี่ยงต่อโรคที่มีผลกับการทำงานของหัวใจได้ เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง และหาสาเหตุของอาการเจ็บหน้าอก นอกจากนี้การตรวจด้วยวิธีดังกล่าวยังทำได้ทุกเพศทุกวัยและไม่มีอาการเจ็บปวดระหว่างตรวจด้วย อย่างไรก็ตามการตรวจด้วยวิธีนี้อาจไม่พบเจอโรคหากไม่มีอาการขณะทำการตรวจ และอาจต้องพึ่งการตรวจรูปแบบอื่นเข้าร่วมด้วย เช่น การเดินสายพาน และตรวจคลื่นหัวใจไปด้วย (EST)

  • ขั้นตอนในการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
    • ก่อนเข้ารับการตรวจผู้ตรวจควรให้ข้อมูลกับแพทย์หากมีการกินอาหารเสริมหรือใช้ยาบางตัวอยู่ เพื่อรับคำแนะนำในการเตรียมตัว แต่โดยปกติแล้วผู้ตรวจสามารถทานอาหารได้ตามปกติ
    • ผู้ตรวจต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์โดยปกติการตรวจจะใช้เวลาไม่เกิน 10 นาที
    • ผู้ตรวจนอนหงายบนเตียงแพทย์จะทำการติดจุดรับกระแสไฟฟ้าตามอวัยวะทั้ง 3 คือ หน้าอกโดยจะติด 6 จุด รวมไปถึงติดแขน และขาด้วย
    • ผู้ตรวจควรอยู่ให้นิ่งที่สุด จากนั้นผลลัพธ์จะปรากฏบนจอ และแพทย์จะทำการพิมพ์ผลลัพธ์ดังกล่าวออกมาเป็นอันเสร็จสิ้น
    • หลังการตรวจหากผลที่ออกมาเป็นปกติจะสามารถกลับบ้านได้ทันที แต่หากผลตรวจออกมาผิดปกติอาจจำเป็นต้องทำการตรวจอีก 1 ครั้งหรือนำการตรวจรูปแบบอื่นเข้าร่วมด้วย
      เช่น การเดินสายพานและตรวจคลื่นหัวใจไปด้วย (EST)
12. การตรวจกล้ามเนื้อ มือ ขา หลัง

สมรรถภาพกล้ามเนื้อ คือ สภาวะความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ (Muscular strength) และความอดทนของกล้ามเนื้อ (Muscular endurance) ซึ่งถือว่าเป็นส่วนที่ต้องใช้งานหรือออกแรงอยู่เสมอในการปฏิบัติกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน

  • วัตถุประสงค์ของการตรวจสมรรถภาพกล้ามเนื้อมือ กล้ามเนื้อขา กล้ามเนื้อหลัง
    • ประเมินความแข็งแรงและความอดทนของกล้ามเนื้อมือ กล้ามเนื้อขา กล้ามเนื้อหลัง เพื่อให้ทราบถึงผลของกล้ามเนื้อว่าอยู่ในเกณฑ์ใด
  • ข้อควรระวังในการตรวจสมรรถภาพกล้ามเนื้อมือ กล้ามเนื้อขา กล้ามเนื้อหลัง
    • ห้ามผู้หญิงตั้งครรภ์ / สงสัยตั้งครรภ์ เข้ารับการตรวจสมรรถภาพกล้ามเนื้อมือ กล้ามเนื้อขา กล้ามเนื้อหลัง เพราะอาจเกิดการแท้งบุตรได้
    • ผู้ที่มีประวัติการผ่าตัดหรือได้รับอุบัติเหตุบริเวณที่ต้องทำการทดสอบ ไม่แนะนำให้ตรวจ เพราะอาจเกิดการบาดเจ็บซ้ำได้